ผู้คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริการ่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงนางรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตุลาการผู้สร้างประวัติศาสตร์ ต้นแบบของนักเรียกร้องสิทธิสตรี และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ขณะมีอายุ 87 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.)
กินส์เบิร์กกลายเป็นสตรีคนที่สองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด
เธอต่อสู้ฝ่าฟันกับการเหยียดเพศตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเธอ และได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของการเป็นผู้พิพากษา
เธออุทิศตัวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด กินส์เบิร์กมักกล่าวติดตลกว่า สหรัฐฯ มีผู้หญิงมากพอที่จะนั่งในคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดซึ่งทั้งคณะ "มีแค่ 9 คน"
เธอไม่ได้ทำงานลดน้อยลงเลยในช่วงบั้นปลายชีวิต เธอยังแสดงการคัดค้านอย่างแข็งขันในองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางฝ่ายอนุรักษนิยม และปัญหาด้านสุขภาพของเธอก็ทำให้ฝ่ายเสรีนิยมในอเมริกาเสียกำลังสำคัญไป
แม้ว่าจะพยายามเก็บเนื้อเก็บตัวเหมือนกับผู้พิพากษาระดับสูงคนอื่น ๆ แต่กินส์เบิร์กได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจ และยังกลายเป็นบุคคลที่มีผู้ชื่นชอบจำนวนมากในวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย
กินส์เบิร์กเป็นหญิงร่างเล็ก สูงเพียง 150 เซนติเมตร แต่ได้รับการจดจำในฐานะบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม
จุดเริ่มต้นที่เรียบง่าย
พ่อแม่ของเธอเป็นชาวยิวอพยพในย่านแฟลตบุช (Flatbush) ของเขตบรูกลิน นครนิวยอร์ก
ซีเลีย เบเดอร์ แม่ของเธอ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในวันก่อนที่กินส์เบิร์กจะเรียนจบมัธยมในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) กำลังเลวร้ายถึงขีดสุดในช่วงปี 1933
เธอได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ซึ่งเธอได้พบกับ มาร์ติน "มาร์ตี้" กินส์เบิร์ก ผู้ซึ่งกลายเป็นคู่ชีวิตของเธอที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานเกือบ 6 ทศวรรษ ก่อนที่มาร์ตี้จะเสียชีวิตในปี 2010
ครั้งหนึ่งกินส์เบิร์กเคยกล่าวว่า "การได้พบกับมาร์ตี้ เป็นเรื่องที่โชคดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับฉัน" เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ชายคนนี้ "เป็นชายหนุ่มคนแรกที่สนใจในความคิดความอ่านของเธอ"
ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1954 หลังจากกินส์เบิร์กเรียนจบได้ไม่นาน ปีต่อมาเธอก็ตั้งครรภ์ลูกสาวคนแรกคือ เจน ในช่วงที่อุ้มท้องอยู่นั้น กินส์เบิร์กถูกลดตำแหน่งในการทำงานที่สำนักงานประกันสังคมแห่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1950 การเลือกปฏิบัติต่อสตรีที่ตั้งครรภ์ยังเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เธอต้องปกปิดการตั้งครรภ์ครั้งที่สองจนกระทั่งลูกชายคลอดออกมาในปี 1965
ในปี 1956 กินส์เบิร์กเป็นหนึ่งในผู้หญิง 9 คนที่ได้รับการตอบรับเข้าเรียนวิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) จากผู้ที่ได้รับการตอบรับทั้งหมด 500 คน โดยคณบดีได้ให้นักศึกษาหญิงบอกเขาว่า ทำไมพวกเธอจึงควรได้เข้ามาเรียนในวิทยาลัยนี้แทนที่ผู้ชาย
เมื่อมาร์ตี้ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ดเช่นกัน ได้ทำงานเป็นนักกฎหมายด้านภาษีในนิวยอร์ก กินส์เบิร์กก็ได้โอนย้ายมาเรียนที่วิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia Law School) ในปีที่ 3 และ 4 ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ร่วมงานกับวารสารกฎหมายของวิทยาลัยทั้งสองแห่ง
"อาจารย์" ของผู้พิพากษาชาย
แม้ว่าจะเรียนจบโดยมีผลการเรียนดีที่สุดในชั้นเรียน แต่กินส์เบิร์กก็ไม่ได้หางานทำได้ง่าย ๆ
"ทั้งนครนิวยอร์ก ไม่มีบริษัทกฎหมายรับฉันเข้าทำงานเลยแม้แต่แห่งเดียว" เธอกล่าว "ฉันมีปัญหาอยู่สามเรื่องคือ ฉันเป็นยิว เป็นผู้หญิง และเป็นแม่คน"
เธอร่วมทำโครงการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในสวีเดน ก่อนที่จะได้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยกฎหมายรัตเกอร์ส (Rutgers Law School) ซึ่งเธอได้สอนนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงและกฎหมาย
"การเคลื่อนไหวของผู้หญิงเป็นไปอย่างคึกคักในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960" เธอบอกกับ วิทยุสาธารณะแห่งชาติ หรือ NPR "ตอนนั้นฉันเป็นอาจารย์วิทยาลัยกฎหมาย และทุ่มเทกับการเคลื่อนไหวในช่วงนั้น"
ในปี 1971 กินส์เบิร์กยื่นคัดค้านต่อศาลสูงสุดสำเร็จเป็นครั้งแรกในคดีระหว่าง รีดและรีด (Reed v Reed) ซึ่งเป็นคดีที่ศาลพิจารณาว่าผู้ชายจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้หญิงให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยอัตโนมัติหรือไม่
"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการตระหนักถึงคุณค่าของผู้หญิงในด้านใหม่ ๆ มากขึ้นในสหรัฐฯ" คำร้องของกินส์เบิร์กระบุ "จากการเคลื่อนไหวของนักเรียกร้องสิทธิสตรีทั้งชายและหญิง ศาลและฝ่ายนิติบัญญัติได้เริ่มยอมรับการอ้างอิงถึงผู้หญิงในฐานะเป็น 'บุคคล' เต็มขั้นที่มีสิทธิในการได้รับการประกันชีวิตและเสรีภาพ และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน"
ศาลสูงสุดเห็นด้วยกับกินส์เบิร์ก ซึ่งนำมสู่การยกเลิกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางเพศเป็นครั้งแรก
ในปี 1972 กินส์เบิร์กได้ร่วมก่อตั้งโครงการสิทธิสตรี (Women's Rights Project) ของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union--ACLU) ในปีเดียวกันนั้น กินส์เบิร์กได้เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยกฎหมายโคลัมเบียคนแรกที่เป็นผู้หญิง
ต่อมาไม่นานเธอก็ได้เป็นที่ปรึกษาทั่วไปของ ACLU และได้ทำคดีเลือกปฏิบัติทางเพศหลายคดี โดยมี 6 คดีที่ทำให้เธอต้องขึ้นศาลสูงสุด และเธอชนะไป 5 คดี
กินส์เบิร์กเปรียบเทียบบทบาทของตัวเองว่าเป็นเหมือน "ครูอนุบาล" ที่คอยอธิบายเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศให้แก่ผู้พิพากษาชายทุกคน
เธอมีวิธีการที่แยบยลและมียุทธศาสตร์ เธอสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ฉลาดในการยกเลิกกฎหมายและนโยบายเหยียดเพศไปทีละเรื่อง แทนที่จะขอให้ศาลสูงสุดตัดสินให้กฎเกณฑ์ทุกอย่างที่ปฏิบัติต่อชายและหญิงอย่างไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายทั้งหมดในคราวเดียว
การได้รับการยอมรับจากผู้เข้าฟังการพิจารณาในชั้นศาลซึ่งมีแต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ทำให้ลูกความของกินส์เบิร์กมักจะเป็นผู้ชาย ในปี 1975 เธอได้ว่าความให้แก่หนุ่มหม้ายคนหนึ่งที่ถูกปฏิเสธการรับผลประโยชน์ หลังจากภรรยาของเขาเสียชีวิตจากการคลอดลูก
"คดีของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีมากที่แสดงให้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติทางเพศทำร้ายทุกคนอย่างไร" กินส์เบิร์ก กล่าว
เธอกล่าวในเวลาต่อมาว่า การเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในด้านกฎหมายในช่วงเวลานั้นหรือหลายสิบปีก่อนที่จะได้เข้ามาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด ถือเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอ
"ฉันโชคดีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงทศวรรษ 1960 และมีชีวิตอยู่ต่อมาตลอดทศวรรษ 1970" เธอกล่าว "ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่การร้องขอต่อศาลประสบความสำเร็จ การตัดสินอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายจำเป็นต้องให้หน่วยงานของรัฐบาลทุกแห่งเห็นผู้หญิงเป็นบุคคลเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย"
ในปี 1980 กินส์เบิร์กได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ในการทำให้ศาลระดับประเทศมีความหลากหลาย
แม้ว่ากินส์เบิร์กจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยม แต่ในช่วงที่เธอทำงานที่ศาลอุทธรณ์นั้น เธอกลับดูแผ่วลง
เธอได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ่ายสายกลาง ที่ลงมติทั้งสนับสนุนและต่อต้านฝ่ายอนุรักษนิยมหลายครั้ง ยกตัวอย่าง การพิจารณาคดีใหม่ของทหารเรือนายหนึ่งที่อ้างว่าเขาถูกปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐฯ เพราะเป็นชายรักชาย
ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เสนอชื่อเธอให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปี 1993 หลังจากมีการกระบวนการสรรหาอยู่เป็นเวลานาน กินส์เบิร์กเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดต่อจาก แซนดรา เดย์ โอ'คอนเนอร์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในปี 1981
ในบรรดาคดีที่โด่งดังที่สุดของกินส์เบิร์ก คดีแรก ๆ เป็นคดีระหว่าง สหรัฐฯ กับ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งส่งผล ให้มีการยกเลิกนโยบายรับแต่ผู้ชายเข้าเรียนของสถาบันการทหารเวอร์จิเนีย (Virginia Military Institute)
กินส์เบิร์กระบุในฝ่ายเสียงข้างมากของศาลสูงสุดว่า เวอร์จิเนีย "รับใช้ลูกชายของรัฐ แต่ไม่มีบทบัญญัติใด ๆ สำหรับลูกสาว นั่นไม่ใช่การคุ้มครองที่เท่าเทียม" เธอระบุว่าไม่มีกฎหมายหรือนโยบายใดที่ควรปฏิเสธผู้หญิง "ในฐานะพลเมืองเต็มขั้น ในการมีโอกาสอยางเท่าเทียมกันในการไขว่คว้า แสวงหา เข้าร่วม และมีส่วนช่วยเหลือสังคม ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล"
ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ผู้พิพากษากินส์เบิร์กเป็นฝ่ายซ้ายอย่างเห็นได้ชัด เธอทำหน้าที่คอยถ่วงดุลในศาลสูงสุด ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แต่งตั้งให้ นีล กอร์ซัช และ เบรตต์ คาวานอห์ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาเอนเอียงมาทางฝ่ายสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม
กินส์เบิร์กคัดค้านอย่างหนักหน่วง และบางครั้งก็มีการประชดประชัน เธอไม่เคยอ่อนข้อในการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นเพื่อนร่วมงานของเธอ
ในปี 2013 ในการโต้แย้งคำตัดสินของศาลสูงสุดว่าด้วยการยกเลิกบทบัญญัติที่สำคัญส่วนหนึ่งในรัฐบัญญัติสิทธิในการเลือกตั้งปี 1965 ด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 กินส์เบิร์กเขียนไว้ว่า "ความเห็นของศาลแทบจะไม่สามารถถูกเรียกว่า เป็นแบบอย่างของการตัดสินอย่างสายกลางได้เลย"
ในปี 2015 กินส์เบิร์กอยู่ฝ่ายเสียงข้างมากใน 2 คดีสำคัญ ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายอเมริกันหัวก้าวหน้า เธอเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาศาลสูงสุด 6 คน ที่เห็นว่าให้คงองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการดูแลที่จ่ายได้ (The Patient Protection and Affordable Care Act) ปี 2010 ไว้ กฎหมายนี้รู้จักกันในชื่อ "โอบามาแคร์" (Obamacare) ส่วนในคดีที่ 2 เป็นคดีระหว่าง โอเบอร์เกอเฟลล์ และ ฮอดจ์ส (Obergefell v Hodges) เธออยู่ในฝ่ายเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ที่เห็นชอบให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันในทั้ง 50 รัฐ เป็นเรื่องถูกกฎหมาย
"เพื่อนที่ดีที่สุดและผู้สนับสนุนที่ดีที่สุด"
ในช่วงที่อาชีพการงานด้านกฎหมายของกินส์เบิร์กกำลังไปได้สวย ชีวิตคู่ของเธอกับมาร์ตี้ก็ สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันทางเพศก่อนหน้าจะถึงยุคที่ชายหญิงเท่าเทียมกัน
ทั้งคู่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน โดยมาร์ตี้รับผิดชอบในการทำกับข้าวเกือบทั้งหมด
"ผมรู้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการแต่งงานแล้วว่ารูธทำอาหารไม่ค่อยเก่ง และการที่เธอไม่ชอบทำอาหาร ฝีมือของเธอก็คงจะไม่พัฒนาขึ้น" เขากล่าวในปี 1996
ในด้านการทำงาน มาร์ตี้สนับสนุนภรรยาของเขาอย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ทางการในรัฐบาลคลินตันกล่าวว่า การโน้มน้าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเขา ส่งผลให้ชื่อของกินส์เบิร์กติดอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่มีโอกาสได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในปี 1993
มีรายงานว่า เขาบอกเพื่อนคนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาเคยทำในชีวิตคือ "การทำให้รูธได้ทำในสิ่งที่เธอได้ทำ"
หลังจากมีการยืนยันว่าเธอได้รับเลือก กินส์เบิร์กแสดงความขอบคุณมาร์ตี้ "ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดและผู้สนับสนุนที่ดีที่สุดของฉัน ตั้งแต่สมัยเรายังเป็นวัยรุ่น"
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะจากไป ขณะที่กำลังต่อสู้กับมะเร็งอยู่ มาร์ตี้ได้เขียนจดหมายถึงภรรยาของเขาว่า นอกจากพ่อแม่และลูก ๆ แล้ว "คุณคือคนเดียวที่ผมรักตลอดชีวิตของผม"
"ผมชื่นชมและรักคุณ แทบจะในวันที่เราพบกันครั้งแรกที่คอร์เนลล์"
เขาเสียชีวิตในเดือน มิ.ย. 2010 หลังจากใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมานาน 56 ปี
เช้าวันต่อมา กินส์เบิร์กได้อยู่ในองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด เพื่ออ่านความเห็นของศาลในวันสุดท้ายของการพิจารณา "เพราะ [มาร์ตี้] คงต้องการแบบนี้" เธอบอกกับนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ (New Yorker) ในเวลาต่อมา
"ฉันจะมีชีวิตอยู่"
กินส์เบิร์กเผชิญกับปัญหาสุขภาพครั้งใหญ่จากการป่วยเป็นมะเร็ง 5 ครั้ง
มีรายงานว่า ผู้พิพากษาโอ'คอนเนอร์ ซึ่งเคยเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงทศวรรษ 1980 ได้แนะนำกินส์เบิร์กว่า ให้เข้ารับเคมีบำบัดทุก ๆ วันศุกร์ เพื่อที่เธอจะได้ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ในการติดตามการโต้แย้งด้วยวาจา
วิธีนี้ได้ผล ทำให้กินส์เบิร์กไม่ได้เข้าร่วมการโต้แย้งด้วยวาจาเพราะอาการป่วยเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
กินส์เบิร์กกล่าวว่า เธอยังทำตามคำแนะนำของมาริลีน ฮอร์น นักร้องโอเปรา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนในปี 2005 ด้วย
"เธอบอกว่า 'ฉันจะมีชีวิตอยู่'" กินส์เบิร์ก เล่าให้ NPR ฟัง "ไม่ได้บอกว่า 'ฉันหวังว่า ฉันจะมีชีวิตอยู่' หรือ 'ฉันอยากมีชีวิตอยู่' แต่คือ 'ฉันจะมีชีวิตอยู่'"
การที่เธอมีอายุยืนยาวเป็นผลดีต่อฝ่ายเสรีนิยมในอเมริกา แต่การที่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดว่างลงอีก 1 ตำแหน่งได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเสียงข้างมากมีอิทธิพลมากขึ้นไปอีกในสมัยของทรัมป์
"Notorious RBG"
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเธอ กินส์เบิร์กกลายเป็นสัญลักษณ์ระดับชาติ ส่วนหนึ่งมาจากการแสดงการคัดค้านอย่างไม่ไว้หน้า นักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่คนหนึ่งได้สร้างบัญชี Tumblr ให้กินส์เบิร์ก และตั้งชื่อบัญชีว่า Notorious RBG ซึ่งเป็นการล้อตามชื่อนักร้องแร็ปที่ชื่อว่า The Notorious BIG
บัญชี Tumblr นี้ ทำให้นักสิทธิสตรีรุ่นใหม่รู้จักกินส์เบิร์ก และผลักดันให้เธอกลายเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่แตกต่างจากผู้พิพากษาทั่วไป และกลายมาเป็นบุคคลที่กลุ่มคนเหล่านี้ชื่นชอบ
"Notorious RBG" ได้ปรากฏอยู่ในนวนิยายขายดีจำนวนมาก ภาพยนตร์ชีวประวัติที่ได้รับรางวัล และสารคดี รายการแซตเทอร์เดย์ ไนต์ ไลฟ์ (Saturday Night Live) ได้นำเธอไปล้อเลียน และนำภาพเหมือนของเธอไปติดบนแก้วและเสื้อยืด
"มันเกินกว่าที่ฉันจะจินตนาการไปได้ว่า วันหนึ่งฉันจะได้กลายเป็น Notorious RBG" เธอกล่าว "ฉันอายุ 86 ปีแล้วตอนนี้ แต่คนทุกรุ่นทุกวัยยังอยากจะถ่ายรูปกับฉัน"
แต่ละด้านในชีวิตของเธอ มีการแบ่งแยกออกจากกันและกลายเป็นตำนาน ตั้งแต่การออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความชื่นชอบใช้ผ้ารัดผม
เมื่อ NPR ถามเธอในปี 2019 ว่า เธอรู้สึกเสียใจต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เธอเคยเผชิญในชีวิตหรือไม่ ความเชื่อมั่นอย่างสูงสุดในตัวเองของกินส์เบิร์ก ก็ส่องประกายออกมา
"ฉันคิดว่า ฉันเกิดมาภายใต้ดวงดาวที่ส่องสว่างมาก" เธอตอบ
รายงานโดย ฮอลลี ฮอนดริก และเจสซิกา ลุสเซนฮอป
https://ift.tt/32NCC0p
โลก
Bagikan Berita Ini
0 Response to "รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสตรีผู้สร้างประวัติศาสตร์ และต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศในสหรัฐฯ - บีบีซีไทย"
Post a Comment