คอลัมน์ Tech Time มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
หลังลุ้นกันตัวโก่งว่าใครจะได้ครอบครอง TikTok ในอเมริกา ที่สุดเป็นม้านอกสายตา Oracle
นอกจากคน Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานขนาดใหญ่ของ TikTok จะไม่คุ้นชื่อ Oracle เพราะเป็นบริษัทพัฒนาและขายโซลูชั่นสำหรับองค์กรเป็นหลัก แม้แต่คนในวงการก็ยังงง ที่พิศดารไปกว่านั้น คือ ดูยังไงดีลระหว่าง Oracle กับ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ที่เพิ่งประกาศเป็นทางการเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ไม่มีวี่แววว่าจะช่วยคลายความวิตกเรื่อง “ความมั่นคง” ที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เป็นเหตุผลหลักในการแบน TikTok แต่อย่างใด
เมื่อเทียบกับข้อเสนอของ Microsoft ที่ต้องการ “ซื้อ” TikTok ในอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียมาดูแลเอง ข้อเสนอ Oracle กลับเป็นแค่ทำข้อตกลงเป็น “พันธมิตร” กัน
ในคำแถลงระบุว่า Oracle จะมีฐานะเป็น “Trusted Tech Partner” ของ ByteDance แต่ไม่แจกแจงรายละเอียดว่ามีบทบาทหรือหน้าที่อย่างไร
สื่อออนไลน์ที่เกาะติดมหากาพย์ TikTok มาแต่แรกอย่าง The Verge บอกว่า ดีลนี้ไม่ใช่การซื้อขายกิจการ และ Oracle ไม่ใช่ผู้ปกครองคนใหม่ของ TikTok แต่เป็นแค่ “พี่เลี้ยงเด็ก”
คำแถลงของ Microsoft ตัวเต็งที่อกหักจากงานนี้จึงออกมาในลักษณะการ “ย้ำเตือน” (ไม่แน่ใจว่าเตือนสังคมหรือท่าน ปธน.) ว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดมาจากการที่อเมริกาต้องการทำให้ TikTok ปลอดภัยจากการสอดแนมของจีน บริษัทจึงตั้งใจว่าหากได้รับเลือกจะเข้ามาเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ให้มั่นใจว่าบริการของ TikTok ในอเมริกาจะได้มาตรฐานสูงสุดในแง่ “ความมั่นคง การรักษาความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยออนไลน์ และการรับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ”
แต่ในเมื่อไม่ได้รับเลือกก็จะ “เฝ้าดูต่อไปว่าบริการในด้านความสำคัญเหล่านี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร”
จากข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะยังไม่มีจุดไหนที่แสดงว่าฐานะการเป็น “พันธมิตร” ของ Oracle จะช่วยตอบโจทย์ทั้งหลายนี้
อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของ Facebook ถึงขั้นโพสในทวิตเตอร์ว่า การที่ Oracle ได้สิทธิ hosting ในอเมริกาแต่ไม่ได้ดูเรื่อง source code ก็ไร้ความหมาย แถมการที่ทำเนียบขาวออกมารับลูกรวดเร็วยิ่งทำให้เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่ปาหี่ต้มคนดูเท่านั้น
หลายเดือนที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญด้าน cybersecurity หลายคนที่บอกว่ายังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันข้อความว่า ByteDance แอบใช้ TikTok และแอบสอดแนมข้อมูลผู้ใช้งานในอเมริกันตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่สมมุติว่าความวิตกของทรัมป์เป็นจริง การที่ Oracle เป็น “trusted tech partner” ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา แม้บริษัทจะมีสิทธิเรื่อง code audits อยู่บ้าง แต่ตราบใดที่ไม่ได้เขียน code เองก็ไร้ประโยชน์
สื่อหลายสำนักจึงอดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันสนิทแนบระหว่างแลร์รี่ เอลลิสัน ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Oracle กับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีส่วนช่วยให้ Oracle กลายเป็นม้ามืดชนะดีลนี้หรือไม่
แลร์รี่ เอลลิสัน หนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกผู้นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักของทรัมป์มาแต่ไหนแต่ไร แถม ซาฟรา แคทซ์ ซีอีโอ ปัจจุบันของ Oracle ก็คุ้นเคยกับทรัมป์ทั้งในฐานะผู้บริจาคสนับสนุนการลงเลือกตั้งครั้งใหม่ และในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานช่วงเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2016
ณ ตอนนี้ Oracle จึงดูเป็น “เดอะวินเนอร์” ตัวจริงในมหากาพย์นี้ เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาติแล้วยังจะได้รับค่าตอบแทนก้อนโตจาก ByteDance ในการก้าวเข้ามาเป็น “พันธมิตร” ที่ “เชื่อถือได้”กอบกู้ไม่ให้ TikTok โดนยุบหรือแบนในอเมริกาได้อย่างฉิวเฉียดอีกด้วย
แต่คำถามสำคัญ คือ ข้อตกลงดังกล่าวสอดคล้องกับเงื่อนไขที่ระบุในคำสั่งบริหารที่ทรัมป์ลงนามประกาศในวันที่ 14 ส.ค.ว่า ต้องการให้ TikTok โอนกรรมสิทธิ์หรือขายกิจการในอเมริกาให้บริษัทสัญชาติอเมริกันหรือไม่
และคนที่จะให้ความกระจ่างได้ คือคณะกรรมการการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาที่กำลังศึกษารายละเอียดข้อตกลงนี้อยู่ ซึ่งน่าจะมีข้อสรุปก่อนถึงเดดไลน์แบน TikTok ในวันที่ 20 ก.ย.นี้
อ่านบทความและอื่น ๆ ( ดีลพิศดาร Oracle & TikTok - ประชาชาติธุรกิจ )https://ift.tt/35PWi5w
โลก
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ดีลพิศดาร Oracle & TikTok - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment